การรักษารากฟัน
คือการกำจัดเอาเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันที่มีการติดเชื้อและอักเสบออกไปก่อน และค่อยทำความสะอาดรากฟันให้ปราศจากเชื้อโรค จากนั้นจึงทำการปิด โดยการอุดหรือบูรณะ ตามสภาพฟันของแต่ละคนเพื่อให้ฟันมีความแข็งแรงและกลับมาใช้งานได้ตาปกติ
อาการของฟันที่ต้องเข้ารับการรักษารากฟัน
ส่วนใหญ่มักจะมีอาการปวดฟันขึ้นมาเอง โดยไม่ได้รับผลกระทบจากการบดเคี้ยวของแข็ง มีอาการปวดๆ หายๆ หรือบางรายปวดจนนอนไม่หลับ มีอาการเสียวที่ฟันอย่างรุนแรง เหงือกบวม ซึ่งอาการเหล่านี้ มักจะเกิดจากปัญหาฟันผุที่ลึกมาก ฟันแตก จนทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปติดอยู่ในโพรงประสาทฟันและเกิดการติดเชื้อ
การดูแลรักษาหลังจากรักษารากฟัน
สามารถดูแลรักษาฟันได้ตามปกติ ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันก่อนการแปรงฟัน และแปรงฟันให้ถูกวิธี
ควรหมั่นตรวจสุขภาพฟัน โดยการพบทันตแพทย์ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
การขูดหินปูน
ปัญหาสุขภาพเหงือกมีสาเหตุจากการสะสมของคราบพลัค วิธีที่ดีที่สุดในการขจัดคราบพลัคออกคือการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง แต่ไม่ว่าจะทำความสะอาดฟันดีแค่ไหน ก็ยังมีบริเวณที่ยากต่อการทำความสะอาด ในบริเวณเหล่านั้น คราบพลัคจะสะสมจนในที่สุดจะก่อตัวเป็นคราบที่แข็งและหยาบเรียกว่าหินน้ำลายหรือหินปูน ซึ่งไม่สามารถขจัดออกด้วยการแปรงฟันเพียงอย่างเดียว ต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน
และเพื่อสุขภาพฟันที่ดี ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟัน ทุกๆ 6 เดือน
การขจัดคราบฝังแน่นบนผิวฟัน Airflow
นวัตกรรมขจัดคราบฝังแน่นบนผิวฟัน หรือ Air flow นวัตกรรมที่จะทำให้คุณเปลี่ยนความกลัวและความเชื่อเดิมๆที่มีให้หมด
การใช้เครื่อง Airflow ในการทำความสะอาดฟันจะช่วยให้การขัดฟันมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องที่มีความดันของน้ำ และอากาศในขั้นตอนเดียว และยังมีส่วนผสมของผงขัดที่มีความละเอียดมาก สามารถทำความสะอาดได้เกลี้ยงเกลามากกว่า ในกรณีที่คนไข้มีคราบสะสมมากจนวิธีขูดหินปูนขัดฟันทั่วไปไม่สามารถเอาออกได้ ทำให้สามารถขจัดคราบติดแน่นได้เป็นอย่างดี
การไม่มีหินปูนดีอย่างไร
ยิ้มได้อย่างมั่นใจ
ป้องกันโรคในช่องปาก เช่น โรคปริทันต์ อาการเลือดออกขณะแปรงฟัน ปัญหากลิ่นปาก เหงือกร่น เหงือกบวมแดง ฟันโยก
การอุดฟัน
เป็นการรักษาฟันผุ ฟันสึก ฟันแตก หรือสภาพฟันที่ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ ให้กลับมามีสภาพฟันที่ปกติและสามารถใช้งานได้คงเดิม ทันตแพทย์จะทำการกรอเอาส่วนของฟันที่ผุออกแล้วทำความสะอาดฟัน จากนั้นจะทำการพิจารณาเพื่อเติมวัสดุอุดฟันที่เหมาะสมกับคุณเข้าไปและตกแต่งฟันให้ได้รูปทรงเช่นเดิม การอุดฟันยังเป็นอีกหนึ่งวิธีในการป้องกันฟันผุเพราะแบคทีเรียจะไม่สามารถเข้าไปทำลายฟันของคุณได้
วัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน
• การอุดฟันด้วยวัสดุที่มีสีคล้ายโลหะสีเงิน (Amalgam) นิยมใช้อุดเฉพาะฟันกรามหรือฟันที่ใช้บดเคี้ยว ราคาถูก แต่ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมมากนัก เพราะทำให้ฟันดูไม่สวย
• การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน คอมโพสิต เรซิน (Composite Resin) เป็นวัสดุที่ให้สีเหมือนฟัน สามารถใช้อุดได้ทั้งฟันกรามและฟันด้านหน้า มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ ข้อเสียคือ เกิดคราบจากการดื่มชา กาแฟ และได้สูบหรี่ได้
• การอุดฟันด้วยพอร์เซเลน หรือ อินเลย์ ออนเลย์ การอุดฟันวิธีนี้ สามารถอุดฟันให้เข้ากับสีฟันของคุณได้ ทนต่อคราบชาและกาแฟ สามารถอุดฟันบริเวณกว้างได้
ควรระมัดระวังเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร โดยเฉพาะการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันบริเวณฟันด้านหน้า อาจทำให้วัสดุที่ใช้อุดฟันแตกได้ง่าย บางรายอาจมีอาการเสียวฟันหลังจากอุดฟัน ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีความเย็นจัดและร้อนจัด อาการเสียวฟันจะค่อยๆหายไปหลังจากอุดฟันได้ 2-3 สัปดาห์
การถอนฟัน
เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ และมีความยากง่ายในการถอนต่างกันสำหรับฟันแต่ละซี่ จึงควรให้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทันตกรรมทำการถอนให้
หลังการถอนฟัน ทันตแพทย์จะให้คนไข้กัดผ้าก๊อตเพื่อเป็นการห้ามเลือดประมาน 30 นาที - 1 ชั่วโมง และจะต้องรักษาความสะอาดบริเวณที่ถอนฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ ไม่ควรสูบบุหรี่ ไม่ใช้น้ำยาบ้วนปาก และไม่แปรงฟันบริเวณที่ถอนออก ทันตแพทย์อาจจ่ายยาแก้ปวดให้กับบางรายที่มีอาการเจ็บปวด หลังการถอด และแนะนำให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ (ห้ามกลืน) จะช่วยให้บรรเทาอาการปวดได้ หากอาการปวดยังไม่ทุเลาใน 2 – 3 สัปดาห์ ให้รีบปรึกษาทันตแพทย์ทันที
ฟันปลอมแบบถอดได้ทั้งปาก (Denture)
ฟันปลอมทั้งปากชนิดใส่ทันทีสามารถสวมใส่ได้ทันทีหลังจากถอนฟันที่เหลือออกหมดแล้ว เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปาก สามารถถอด และใส่ได้ตามต้องการ
ฟันปลอมแบบถอได้บางส่วน ( Partial Denture)
ฟันปลอมบางส่วนจะติดตั้งอยู่ฐานโลหะ ซึ่งทันตแพทย์จะประกบ ติดเข้ากับฟันจริง ในบางครั้งจะมีการทำครอบฟันบนฟันจริงเพื่อใช้เป็นหลักยึดฟันปลอม ฟันปลอมแบบถอดได้บางส่วนนี้ สามารถนำมาใช้ทดแทนการใส่สะพานฟันได้ด้วย
ฟันปลอมแบบถอดได้ อยู่ได้นานแค่ไหน
การใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง จะต้องนำฟันปลอมไปเสริมฐาน ทำใหม่ หรือเปลี่ยนฐานฟันใหม่ การเปลี่ยนฐานฟันใหม่หมายถึงการเปลี่ยนฐานฟันปลอม แต่ยังใช้ตัวฟันอันเดิม นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้น ลักษณะภายในช่องปากของคุณก็จะเปลี่ยนไปด้วย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ฟันปลอมของคุณหลวม เคี้ยวอาหารลำบาก และระคายเคืองเหงือก ทำให้เกิดปัญหา เจ็บจากการใส่ฟันปลอด ฟันปลอมหลวม หลุด ขณะเคี้ยวอาหาร ดังนั้น คุณจะต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
พ่อแม่หลายท่าน มักจะเข้าใจผิดว่าฟันน้ำนมไม่สำคัญ เพราะฟันน้ำนม ไม่ได้อยู่กับลูกๆของคุณไปตลอด จึงมักจะไม่ค่อยใส่ใจและไม่ดูแลรักษา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ฟันน้ำนมเป็นรากฐานของฟันแท้ ถ้าหากฟันน้ำนมผุ อาจจะส่งผลถึงฟันแท้ที่อยู่ด้านล่าง ทำให้ฟันแท้เกิดอาการฟันผุได้ ฟันน้ำนม เป็นฟันชุดแรก มักจะเริ่มขึ้นตอนอายุประมาณ 6 เดือน ฟันน้ำนมคู่แรกจะเริ่มขึ้นจากฟันคู่หน้าด้านล่าง และทะยอยขึ้นไปเรื่อยๆ จน ครบจำนวน 20 ซี่ ด้านบน 10 ซี่ ด้านล่าง 10 ซี่ ในช่วงอายุประมาณ 2-3 ปี จากนั้นจะเริ่มหลุดไปเรื่อยๆ แล้วขึ้นเป็นฟันแท้ทดแทน จนครบ 32 ซี่
สาเหตุที่ทำให้ฟันน้ำนมผุ
● ปล่อยให้เด็กหลับไปพร้อมกับขวดนมที่ยังอยู่ในปาก
● ไม่บ้วนปากหรือแปรงฟันหลังจากรับประทานขนมหรือของหวาน
● พ่อแม่ไม่ใส่ใจดูแลความสะอาดของฟันน้ำนม เพราะคิดว่าเดี๋ยวฟันน้ำนมก็หลุด
ฟันน้ำนม หากเกิดอาการผุแล้ว พ่อแม่ควรรีบพาลูกมารักษา และไม่ควรรีบถอนฟัน เพราะถ้าหากฟันน้ำนมหลุดก่อนวัย จะทำให้ฟันแท้ขึ้นมาไม่ตรงตำแหน่ง ทำให้ฟังเรียงตัวไม่สวยและบิดเบี้ยวในอนาคต ได้
ข้อควรปฏิบัติดูแลรักษาฟันน้ำนม
● เลือกแปรงสีฟันให้เหมาะกับขนาดช่องปากของเด็ก และแปรงสีฟันควรมีความนุ่ม
● เลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผลสมของฟลูออไรด์ เพื่อช่วยเคลือบฟันให้แข็งแรงและไม่ผุได้ง่าย บีบขนาดของยาสีฟันเท่าเม็ดถั่วเขียว
● ฝึกวินัยการแปรงฟันหลังจากรับประทานอาหาร หรือแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนเข้านอน
● สอนให้เด็กรู้จักการแปรงฟันที่ถูกวิธี และแปรงลิ้นด้วยทุกครั้ง
● ไม่ปล่อยให้เด็กนอนหลับไปพร้อมกับขวดนม
● พ่อแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ ทุกๆ 6 เดือน
กลิ่นปากหรือกลิ่นลมหายใจ ปัญหาที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัว ว่าเกิดขึ้นกับตนเอง และมักจะมองข้ามไป แต่คุณรู้หรือไม่ว่า กลิ่นปากก็เป็นอีกเรื่องสำคัญในการดำรงชีวิต ไม่ว่าคุณจะกำลังสนทนา หรือแม้กระทั่งถอนหายใจ ก็อาจส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์กับคนรอบข้าง ทำให้คุณสูญเสียบุคคลิกภาพและขาดความมั่นใจในขณะสนทนาได้ หากปล่อยไว้นาน ก็ยิ่งจะทำให้เป็นปัญหาใหญ่และรักษาได้ยาก